ความจริงเกี่ยวกับสเต็มเซลล์บำบัด Stem cell therapy
สเต็มเซลล์คืออะไร
เซลล์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดในร่างกายมนุษย์ โดยประมาณแล้ว คนเราจะมีเซลล์อยู่ถึง 100 ล้านล้าน เซลล์ ประกอบเป็นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเรา เซลล์เหล่านื้ทำหน้าที่ต่างกัน เพื่อให้ร่างกายทำงานอย่างเป็นระบบ เช่นการเต้นของหัวใจ การคิดในสมอง การกรองเลือดในไต หรือการทดแทนเซลล์ของผิวหลังจากที่แซลล์เก่าลอกออก เป็นต้น
รูปแสดงเซลต่างๆ ในร่างกาย
สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร
เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์คือเซลล์ชนิดพิเศษ ที่พบในร่างกายของคนเรา โดยพบได้ทุกช่วงเวลาของการเจริญเติบโตในสิ่งมีชีวิต สเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) มีศักยภาพ สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด และสามารถเปลี่ยนแปลง ไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิด ในร่างกาย เช่น เซลล์ผิวหนัง สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด มีหน้าที่สำคัญในการทดแทน และซ่อมแซมเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย
ทำไมสเต็มเซลล์ถึงสำคัญสำหรับสุขภาพของคุณ
โดยปกติแล้ว เมื่อร่างกายเติบโตจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ เซลล์ที่เคยแข็งแรงก็จะค่อยๆ อ่อนแอลง ทำให้ร่างกายเจ็บป่วย หรือแสดงอาการผิดปกติออกมาครับ ในทุกๆ วัน ร่างกายของคนเรา จะมีการตายของเซลล์ เกิดขึ้น เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีอายุเพียง 120 วัน เซลล์ผิวหนังมีอายุ 28 วัน
และในเวลาที่เราบาดเจ็บหรือป่วย เซลล์ของเราก็บาดเจ็บหรือตายด้วย เมื่อเหตุการณ์พวกนี้เกิดขื้น สเต็มเซลล์ก็จะเตรียมพร้อมทำหน้าที่ซ่อมแซมบาดแผล และสร้างแซลล์ใหม่ เพื่อมาทดแทนแซลล์เก่า ที่ตายไปตามเวลา เพราะฉะนั้นสเต็มเซลล์สำคัญกับร่างกายเรามากๆ เพราะมันทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราแก่ก่อนอายุ สเต็มแซลล์ก็เป็นเหมือนกองทัพแพทย์ตัวเล็กๆ ในร่างกายเราเลยครับ
รูปแสดง embryonic stem cells ที่ได้จากมนุษย์ โดยสเปริมผสมกับไข่ และเกิดเป็นตัวอ่อน (embryo)
ในคนที่ยังอายุน้อย สเต็มเซลล์จะสามารถแบ่งตัวมาทดแทน เซลล์ที่ตายเหล่านี้ ได้ทันไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนที่อายุมากขึ้น ปริมาณสเต็มเซลล์ก็มีน้อยลง ทำให้การทดแทนเซลล์น้อยลง ร่างกายก็จะค่อยๆ เสื่อม ไปในทุกอวัยวะ หรือที่เรามักเรียกกันว่าโรคชราครับ
ทำไมคนหันมาสนใจสเต็มเซลล์
มีการศึกษาถึงจำนวนของสเต็มเซลล์ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรงเบาหวาน และโรคเรื้อรัง พบว่า จำนวนเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีจำนวนน้อยกว่าคนปกติ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสรุปได้ว่าสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยคงจะได้รับผลกระทบจากโรค เช่นเดียวกับเซลล์อื่นๆ ทำให้เกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์ให้กับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ก็อาจจะช่วยป้องกันโรค หรือทำให้โรคที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้
![](https://www.wichaiyuangkaew.com/thefaceaesthetic/wp-content/uploads/2018/07/stem-cell-1-1-1.jpg)
รูปแสดงลักษณะของเซลล์แต่ละชนิดในร่างกาย
ด้วยเหตุผลข้างต้น แพทย์จึงให้ความสนใจเรื่องสเต็มเซลล์ โดยมีความหวังว่า อาจจะสามารถนำมาช่วยรักษาโรคต่างๆ ในมนุษย์ได้ ควบคู่กับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
สเต็มเซลล์ เกิดขึ้นเมื่อไร
การใช้สเต็มเซลล์ เพื่อรักษาโรค มีมานานมากแล้วนะครับ เกินกว่า 90 ปีละครับ เริ่มแรกคือสกัดจากสัตว์
โดยนายแพทย์ พอล นีฮาน ซึ่งได้รับยกย่อยให้เป็นบิดาของการทำ live cell therapy เริ่มแรกโดยการเอาเซลล์จากตัวอ่อนของแกะ มาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อช่วยรักษาฟื้นฟู โดยมีผลเป็นที่น่าพอใจ และวิธีดังกล่าวได้รับการจัดเป็นหนึ่งในการรักษา ของแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ
รูป Dr.Paul Niehans
เคยได้ยินว่า การใช้สเต็มเซลล์เป็นสิ่งผิดจริยธรรมในระยะแรกๆ สเต็มเซลล์ที่นักวิทยาศาสตร์พบ เป็นสเต็มเซลล์ที่แยกมาจากไข่ ที่ได้รับการปฎิสนธิแล้ว (สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน) โดยเอามาเพาะให้เป็นเซลล์ต่างๆ ได้แทบทุกชนิดครับ แต่จากการที่ไข่ได้รับการปฎิสนธิแล้ว ถือว่าชีวิตกำเนิดแล้ว ทำให้เกิดข้อโต้แย้งทางศีลธรรมอย่างมาก (ประธานาธิบดี จอร์จ บุช ถึงกับออกกฎหมาย ปฎิเสธทุนวิจัยทางด้าน embryonic stem cell เลยครับ) แต่ในปัจจุบันก็มีผู้ที่สนับสนุน และเห็นว่าไข่ที่ได้รับการปฎิสนธิแล้ว เพียง 5 วัน ยังไม่ได้สร้างอวัยวะใดๆ ไม่ถือว่ามีชีวิต และปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ สามารถนำมาจากอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไข่ได้อีกมากมาย ทำให้เรื่องความรู้สึกผิดจริยธรรม ค่อยๆ เบาบางลง (และประธานาธิบดี โอบามา ก็ออกมาแก้กฎหมายดังกล่าว เรียบร้อยแล้วครับ)
แต่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าจนพบว่า มีแหล่งของสเต็มเซลล์อื่นๆ ที่สามารถนำมาศึกษาวิจัยได้ โดยสเต็มเซลล์เหล่านี้เรียกว่าAdult Stem Cells หรือสเต็มเซลล์เต็มวัย เช่นสเต็มเซลล์จากเลือด, สายสะดือ, รก, ไขกระดูก เป็นต้น
รูปแสดง บริเวณต่างๆ ของร่างกาย ที่เราสามารถเอา stem cell มาใช้ได้
หลักการทำงานของสเต็มเซลล์เป็นยังไง
กลไกการทำงานของสเต็มเซลล์นั้น เกิดหลังจากเซลล์ถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย เซลล์จะเดินทางไปที่อวัยวะที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด เช่น เซลล์หัวใจจะวิ่งไปที่หัวใจ เซลล์ปอดจะไปที่ปอด เซลล์ตับก็จะกลับไปที่ตับ และเมื่อพบว่าเซลล์ของอวัยวะดังกล่าวเสื่อม สเต็มเซลล์ก็จะสร้างสารชีวภาพ หลากหลายชนิดขึ้นมา ซ่อมแซมเซลล์เก่า หรือเซลล์ที่เสื่อมเหล่านั้น
การทำงานหลักๆ ของ stem cell
ความแตกต่างของสเต็มเซลล์และเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
ย้ำอีกทีนะครับ ความแตกต่างของสเต็มเซลล์และเซลล์ต่างๆในร่างกาย ต่างกันตรงที่ความสามารถ ในการแบ่งตัวของเซลล์ สเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่แบ่งตัวได้ไม่จำกัด ในเวลานาน ในขณะที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไม่สามารถแบ่งตัวได้ กล่าวคือไม่สามารถรักษา หรือพัฒนาเซลล์ตัวเอง ให้กลับมามีสภาพเหมือนปกติ หรือซ่อมแซมตัวเองได้นั่นเองครับ แต่เนื่องจากระยะเวลา ในการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ ในห้องปฎิบัติการนั้น ค่อนข้างยุ่งยาก และใช้เวลานาน เพราะในหนึ่งครั้งของการรักษา ด้วยการฉีดสเต็มเซลล์เข้าสู่ร่างกายนั้น ใช้ปริมาณของเซลล์เป็นจำนวนมาก ความต้องการใช้จึงมากกว่ากำลังผลิต ทำให้ราคาค่อนข้างสูง และยังไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
ตกลงว่าสเต็มเซลล์มีกี่ประเภทกันแน่
1 Embryonic Stem Cell เป็นเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์
เซลล์พวกนี้คือ “สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์” (Embryonic Stem Cell) ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อน เพราะว่าหน้าที่ของสเต็มเซลล์ตัวอ่อน เป็นเหมือนเซลล์ต้นกำเนิดที่มีความสามารถที่จะถูกพัฒนาไปเป็นเซลล์อื่นๆ ของร่างกายได้ สามารถสร้างทุกอวัยวะ รวมทั้งเนื้อเยื่อในร่างกายได้ทั้งหมด ทำให้สเต็มเซลล์อ่อน มีคุณสมบัติที่สามารถรักษาโรคที่เซลล์เสื่อมได้แทบทุกชนิด สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนที่นักวิทยาศาสตร์เอามาใช้ ส่วนใหญ่ได้มาจากเซลล์ที่เหลือจากการทำกิ๊ฟ จากถุงน้ำคล่ำ เซลล์ที่เหลือเหล่านี้ถ้าไม่ใช้ก็จะถูกโยนทิ้งไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไรครับ เนื่องจากยังมีข้อครหาหลายๆ จุด โดยเฉพาะด้านกฏหมาย และจริยธรรมครับ
รูปแสดง embryo stem cell
2 Adult Stem Cell เป็นเซลล์เนื้อเยื้อโตเต็มวัย
โดยนำมาจากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น ไขสันหลัง ฟัน ไขมัน เลือด ของเราเอง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแต่ละอวัยวะ จะมีสเต็มเซลล์ ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับอวัยวะนั้นๆ ครับ ตัวอย่างเช่นเลือดของเรา ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากสเต็มเซลล์ ที่อยู่ในไขกระดูก ซึ่งในปัจจุบันมีการนำมาใช้ในวงการความงามกันอย่างกว้างขวาง เช่นการเสริมหน้าอก การปรับรูปหน้า การฉีดเติมเต็ม
รูปแสดง adult stem cell จากส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สเต็มเซลล์จากเซลล์ตัวอ่อน กับตัวเต็มวัยต่างกันยังไง
จำง่ายๆ เลยครับ เซลล์เด็กยังไม่โตทำให้หน้าที่หลักๆ คือ แบ่งตัวเพื่อขยายขนาด และเพิ่มจำนวน ทำให้ร่างกายแต่ละส่วนโตขึ้น ส่วนเซลล์เต็มวัย จะไม่ทำหน้าที่แบ่งตัวละครับ แต่จะหันมาซ่อมแซมเซลล์ที่อักเสบ บาดเจ็บ หรือเสียหาย ให้กลับมาทำงานปกติครับ เพราะฉะนั้นต่างกันดังนี้ครับ
- เซลล์ตัวอ่อน สามารถพัฒนาไปเป็นอวัยวะ ต่างๆ ในร่างกายได้
- เซลล์โตเต็มวัย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยะต่างๆ ได้ แต่เน้นรักษาฟื้นฟูเซลล์ที่บาดเจ็บ เสียหาย
- เลือดจากน้ำคล่ำ ตัวนี้มันก็คล้ายกับเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นแบบอื่นๆ ได้
แล้วที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เอาสเต็มเซลล์มาจากไหน
ถ้าเป็น Embryonic Stem Cell สามารถเก็บได้จากตัวอ่อน แต่การนำ embryonic stem cell มาใช้เสมือนเป็นการฆ่าตัวอ่อน จึงมีหลายๆ กลุ่มที่ไม่ยอมรับครับ แถมต่อต้านว่าผิดจริยธรรม ปัจจุบันเราจึงหันมาให้ความสนใจกับ Adult Stem Cell ซึ่งได้มาจากหลายแหล่ง เช่น เลือด ไขกระดูก เลือดจากสายรก (สายสะดือ) ไขมัน ฟันน้ำนม เรียกได้ว่า สามารถหาได้จากเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย แต่แหล่งที่เอามา ก็จะมีข้อดี ข้อเสียในการนำมาใช้ แตกต่างกันไป
Stem Cell จากเลือด
เลือดของเราปกติ จะมี stem cell อยู่แล้วแต่ปริมาณน้อยมาก หากเราต้องการเร่งให้ไขกระดูกปล่อย stem cell ออกมาสู่ระบบเลือดให้มากขึ้น เราจะฉีด ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า G-CSF (Granulocyte Colony Stimulating Factor) ข้อดีของวิธีนี้คือ เราสามารถเก็บ Stem Cell ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แต่ข้อเสียคือ อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา G-CSF และ stem cell ที่ได้จะมี T-cell ซึ่งเสมียนหน่วยความทรงจำว่าร่างกายเคยเป็นโรคอะไรมาแล้ว T-cell นี้อาจทำให้ร่างกายไม่ยอมรับการปลูกถ่าย และยิ่งอายุมากขึ้น ศักยภาพของ Stem cell ในร่างกายก็ลดลงครับ
![](https://www.wichaiyuangkaew.com/thefaceaesthetic/wp-content/uploads/2018/07/stemcell-7-.jpg)
รูปแสดง สเต็มเซลล์จากเลือด
Stem cell จากเลือดในสายรก
การเก็บเลือดจากสายรก จะทำได้แค่ช่วงที่เด็กแรกคลอดเท่านั้น ข้อดี คือมีปริมาณ T-cell น้อยมาก เพราะเด็กยังไม่เคยสัมผัสโรค วิธีการจัดเก็บง่าย ไม่มีความเจ็บปวดทั้งแม่และเด็ก แต่ข้อเสียคือปริมาณที่เก็บได้มีจำนวนน้อย จึงไม่เพียงพอต่อการใช้งานในหลายๆ กรณี
รูปแสดง สเต็มเซลล์จากสายรก
Stem cell จากไขกระดูก
ไขกระดูกถือเป็น แหล่งผลิตสเต็มเซลล์ เลยก็ว่าได้เพราะในกระดูกคนเรามี Stem cell มากเพียงพอ ที่จะเอามาใช้ ซึ่งในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการปลูกถ่ายไขกระดูกใช่ไหมครับ ปัจจุบันแพทย์สภาก็ให้การยอมรับเรื่องการรักษาโรคในระบบเลือดต่างๆ เช่น ลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคภูมิต้านทานผิดปกติบางชนิด และโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบเลือด แต่วิธีการนำมาใช้ยุ่งยาก และค่อนข้างเจ็บครับ โดยแพทย์ต้องวางยาสลบ เพื่อเจาะเข้าไปในกระดูกเชิงกรานให้ถึงไขกระดูก แล้วดูด stem cell ที่อยู่ในโพรงไขกระดูกออกมา คนไข้ต้องใช้เวลาพักฟื้นต่อที่บ้าน 5-7 วัน
รูปแสดง สเต็มเซลล์จากไขกระดูก
สเต็มเซลล์ แบบไหนที่สามารถใช้ได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัย
ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้มีการพัฒนาการสกัด Stem Cell ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันแหล่งของ Stem Cell ที่ได้รับการยอมรับว่านำมาใช้ได้ผลมากที่สุด ถูกสกัดมาจากไขกระดูก เพราะคือแหล่งผลิต สเต็มเซลล์อยู่แล้ว ทำให้เซลล์ที่ได้จากไขกระดูก เป็นเซลล์ใหม่ที่มีคุณภาพมากที่สุด และมีการใช้ stem cell จากไขกระดูกมากนานกว่า 10 ปีแล้ว
สำหรับ stem cell ที่ได้จากไขกระดูก คือสเต็มแซลล์จากเนื้อเยื้อ ที่โตเต็มวัยแล้ว (Adult Stem Cell) จึงมีความปลอดภัย และมั่นใจได้ว่าเป็นเซลล์ เฉพาะเจาะจง สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เฉพาะ ในเนื้อเยื่อนั้นๆ เท่านั้น ในปัจจุบันโรคที่ทางการแพทย์ยอมรับ และให้การรับรองว่าสามารถ ใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษา คือโรคในกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติ ในระบบเลือด เช่นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย โรคโลหิตจาง หรือทาลัสซีเมีย ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก ทำให้วงการแพทย์ มั่นใจ ใน stem cell ที่ได้จากไขกระดูก มากกว่าแบบอื่นๆ
แล้วเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ (MESENCHYMAL STEM CELL) คืออะไร
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในไขกระดูก ยังมีสเต็มเซลล์อีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Mesenchymal stem cell (MSC) ซึ่งเป็นเซลล์ที่แยกมาจากไขกระดูกซึ่งสามารถแบ่งตัวเองได้ มีลักษณะและคุณสมบัติคล้ายเซลล์ Fibroblast (เซลล์ชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่สร้าง คอลลาเจนในชั้นผิวหนัง) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในไตของ quinea-pigs จะกระตุ้นให้เกิดเนื้อเยื้อกระดูก และเซลล์ไขกระดูอยู่ภายในเนื้อไตได้ ซึ่งในภายหลัง เซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น mesenchymal stromal cell หรือ mesenchymal stem cell (MSC) และนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า นอกจากไขกระดูกแล้ว เรายังสามารถเพาะเลี้ยง MSC ได้จากสายสะดือ จากรก จากฟันน้ำนม จากเซลล์ไขมัน จากผิวหนัง จากฟันน้ำนม และแม้แต่เลือดประจำเดือน เซลล์ MSC นี้ ถ้าได้รับการเลี้ยงในภาวะที่เหมาะสม จะสามารถเจริญไปเป็น เซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก และเซลล์กระดูกอ่อนได้
เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ (MESENCHYMAL STEM CELL) มีความพิเศษยังไง
คุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งของ MSC คือความสามารถในการที่จะเดินทางไปยังแหล่ง ที่มีการอักเสบ และสร้างสารชีวภาพที่ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื้อ, ต้านการอักเสบ และปรับสมดุล ภูมิต้านทานของร่างกาย จึงได้มีการศึกษาถึงคุณสมบัติของ MSC ที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ในการรักษาและป้องกันโรค ในกลุ่มภูมิคุ้มกันไวเกิน (autoimmuene disease) ตัวอย่างเช่น การใช้ MSC เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ GvHD และลดการเกิด graft rejection ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ยังสามารถใช้ในการรักษาโรคทางสมอง ที่เรียกว่า Multiple Sclerosis โรครูมาตอยด์, Crohn’s Disease, และใช้แทน anti-interleukin receptor ในคนที่ปลูกถ่ายไต
เป็นที่ทราบดีว่าโรคส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง (Chronin Inflammation) ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือแม้แต่โรคมะเร็ง ก็เกิดจากการอักเสบเรื้อรังทั้งสิ้น จึงมีผู้นำ MSC ไปใช้เพื่อลดการอักเสบในภาวะดังกล่าว เช่น ฉีดเข้าหลอดเลือด ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือสมองขาดเลือด ใช้ฉีดเข้าข้อเข่า ในผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเสื่อม ซึ่งผลการวิจัยหลายๆ ตัวก็ออกมาในแง่ บวก และในต่างประเทศถึงขั้นจดทะเบียนและสามารถนำมาใช้ในการรักษาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ทั้งนี้ แพทย์สภาในประเทศไทย ก็ยังไม่ยินยอมให้นำมารักษากันอย่างถูกต้องนะครับ เพียงแต่เปิดกว้างไว้ว่าเป็นแพทย์ทางเลือกเท่านั้น ดังนั้นถ้าท่านที่สนใจคงต้องลองพิจารณากันถี่ถ้วนนะครับผม ^^